top of page

ปะ ติด ปะ ต่อ : ความเป็นไปได้ (Experimental Collage)

Updated: May 9, 2019


Courtesy of Round and Nine @2019

วันเสาร์ หน้าร้อนที่แล้ว ในขณะที่นั่งพักหลังเสร็จจากงานบ้าน เหงื่อที่หน้าผากยังไม่ทันแห้งดี

ผมเหลือบไปเห็นกองหนังสือ จำนวนหนึ่ง ที่กองอยู่รวมกัน ไม่ไกลโต๊ะอาหารนัก


นิตยสาร แผ่นพับ ใบปลิว หนังสือพิมพ์ เป็นสิ่งพิมพ์ที่เราเคยหยิบขึ้นมาอ่านบ้าง ไม่เคยแม้แต่จะหยิบเลยก็มี บางชิ้นเป็นเอกสารจากงานแสดงสินค้าตอนไปเยี่ยมประเทศฝั่งยุโรป รวมทั้งกระดาษที่พับทบไปมาจากฝั่งตะวันออก ไม่เว้นแม้แต่หนังสือพิมพ์


สิ่งพิมพ์เหล่านี้เกิดขึ้นมาเพื่อนำเสนอคุณค่าที่แตกต่างกัน เพื่อเสนอคุณค่านั้นๆให้กับมนุษย์ผ่านระบบการมอง เห็น แปลความหมาย ตีความหมาย หรือไปถึงขั้นส่งต่อข้อมูล มากไปกว่านั้นอาจรวมไปถึงการส่งต่อทางด้านความคิด ก็ไม่เห็นจะแปลกนัก


แผ่นพับสีแดงใบหนึ่งที่ตีลังกาอยู่ในกองสิ่งพิมพ์ตรงหน้า แสงที่หน้าต่างส่งภาพอาคารลายเส้นสีขาวในสไตล์นีโอคลาสสิค เข้ามาในดวงตาผม (จริงๆแล้วที่หน้าแผ่นพับมีตัวอักษรภาษาอังกฤษ พร้อมตัวเลขอยู่ด้วยแต่ผมอ่านมันไม่ออก ณ เวลานั้น) ภาพนั้นพยายามรื้อค้นความทรงจำของผม, "พิพิธภัณฑ์ที่อังกฤษ" ผมพอจำได้, ก่อนที่จะพลิกมันกลับหัวเพื่ออ่านอักขระที่อยู่ตรงหน้าเพื่อแปลความหมายที่จะสื่อสารอีกที ผมยกมันเข้าใกล้จมูก ดมมัน พลางยิ้ม และขยับนิ้วโป้งที่ถือแผ่นพับนี้เพื่อรับความสากของกระดาษ, "ไม่เคลือบ เนื้อกระดาษฟู" ผมบีบมันเบาๆ เพื่อดูการตอบสนองของกระดาษ


ทั้งหมดเกิดขึ้นในเวลาไม่เกิน 5 วินาที

ซึ่งนานพอที่จะเรียกความรู้จัก และความรู้สึกออกมาจากความทรงจำของผมได้


"เราน่าจะทำอะไรกับกองสิ่งพิมพ์นี้ได้บ้าง" ผมคิด


เพลง " Miss right" ของ Anderson Paak จากเครื่องคอมพิวเตอร์นำผมไปยังภาพหน้าปกอัลบั้ม Venice ที่มีสีแสบสัน และอัดแน่นไปด้วยองค์ประกอบจากการปะติด ไม่ว่าจะเป็นรูปคน รถยนต์ ขวดเครื่องดื่มที่วางอัดอยู่ในโครงสร้างสี่เหลี่ยม เกิดเป็นความรู้สึก"สนใจ" พลางหันไปที่กองสิ่งพิมพ์ตรงหน้า ผมหาข้อมูลศิลปินที่ทำหน้าปกนี้ผ่านระบบอินเทอร์เน็ต ,"Dewey Saunders", ไม่เพียงแค่หน้าปกนี้ งานหลายๆชิ้นที่ผ่านมาของเขามันมีความน่าสนใจ การบิดเบือน ความผิดที่ผิดทาง ความสัมพันธ์ทางพื้นที่ เวลา และความหมาย.


ลองทำดู เดี๋ยวเราคงได้รู้จักกัน

https://en.wikipedia.org/wiki/Venice_(Anderson_Paak_album)

ตัวอักษรภาษาอังกฤษ มี 26 ตัว


"ความเป็นอิสระ"คือตัวแปรของงานนี้ การจัดการองค์ประกอบผ่านสัญชาติญาณ (รวมต้นตออาจเกิดจากประสบการ์ณ หรือความเป็นไปได้ในการถูกแทรกด้วยอารมณ์ระหว่างทำ) ผ่านกรอบตัวอักษรภาษาอังกฤษ 1 ตัว ผ่านสิ่งพิมพ์ที่เห็นหรือหยิบได้ ณ ช่วงเวลานั้นๆ - พูดแบบไม่เท่ห์มากก็คือ "ทำตามใจ" แค่นั้น


"รู้จัก"


ไม่แปลกที่มันใช้เวลา ประมาณ 1 ปีนิดๆ เป็น 1 ปี ที่ได้รู้จักเครื่องมือตัด และอุปกรณ์ต่อกระดาษหลากหลายชนิดขึ้น มองเห็นองค์ประกอบของสิ่งพิมพ์ที่ไม่เคยเห็นมาก่อน กระดาษที่แตกต่างกัน การเข้าเล่ม เทคนิคการพิมพ์แบบต่างๆ ที่สำคัญคือ มันทำให้เราใจกว้างขึ้น มองเห็นความเป็นไปได้ทางองค์ประกอบมากขึ้น และแน่นอน ไม่มีระบบ undo แบบในโปรแกรมคอมพิวเตอร์ ทุกองค์ประกอบถูกตัด ฉีก คัดแยก เลือก ประกอบ ติด เกาะเกี่ยว ทับซ้อน กันด้วยมือ

ชุดงานสำเร็จ ใช้เวลาทั้ง 1 ปีกับอีก 1 เดือน ผมได้ชิ้นงาน ปะติดตัวอักษรภาษาอังกฤษ 26 ตัว (รวมขีดกลาง และเครื่องหมายคำถาม เป็น 28 ตัว) TYPO.COLLA-Z คือ ชื่อของผลงานชุดนี้


ผมเขยิบความเป็นไปได้ที่มีออกไปอีกนิด

เริ่มจากการไปพูดคุยขอความรู้การเข้ากรอบรูปจากร้านไกล้บ้าน วัสดุที่ใช้ทำกรอบรูปในตลาด หาข้อมูลกระบวนการสร้างงานศิลปะซ้ำ, การสร้างผลงานศิลปะจำกัดจำนวน (Limited Edition), ลิขสิทธิ์ภาพปะติดที่สามารถซื้อขายได้ สอบถามเรื่องงานพิมพ์ศิลปะเพื่อการเก็บรักษา หมึก กระดาษจากร้านพิมพ์เฉพาะทาง ทดลองพิมพ์จริง ตรวจสอบสี รวมทั้งดูข้อมูลการตั้งราคางาน ศึกษาช่องทางการขาย และนำชิ้นงานทดลองขายจริง


"สนุก!!"

จากวันนั้นถึงวันนี้ ผมได้(ทด)ลองตั้งคำถามกับสิ่งที่เกิดขึ้น ลองปฏิบัติ ผมเล่าสิ่งที่ผมทำให้กับทีมนักออกแบบฟัง แบ่งปันข้อมูลที่ได้จากประสบการ์ณตรง หลายคนตื่นเต้น และสนใจถ้าผมจะนำเครื่องมือและสิ่งพิมพ์ที่มีมาสาธิตแลกเปลี่ยนกันในวันสุดสัปดาห์


บางครั้งผลลัพท์ก็อยู่ระหว่างทางที่เรากำลังลงมือทำ

และส่งต่อไปสู่ปลายทางที่แตกขยายออกไปได้ไม่สิ้นสุด


ผลลัพท์ที่นับค่าไม่ได้จากการ(ทด)ลอง


กิตติคุณ ภักดีแก้ว

Kittikoon Pakdeekaew



bottom of page