ความรีบเร่ง ความรวดเร็วของเทคโนโลยี ผู้คนมองหาความสมบูรณ์แบบภายใต้เวลาที่จำกัด
หลังจากยุคเฟื่องฟูของการซื้อขายอสังหาฯแนวดิ่ง คอนโดมีเนียม หอพัก มีหลายธุรกิจหายไปจากพื้นที่ชุมชน และมีอีกหลายธุรกิจเติบโตและกำเนิดขึ้นใหม่
หนึ่งในนั้นคือ "ธุรกิจเครื่องซักผ้าหยอดเหรียญ"
ซึ่งถือว่าเป็นธุรกิจที่ยังมีคู่แข่งไม่มากนักเมื่อเทียบกับจำนวนประชากร โดยรวมมีร้านสะดวกซักเฉลี่ยประมาณ 300 สาขาทั่วประเทศ ซึ่งถือว่ายังมีโอกาสเติบโตสูงขึ้นได้อีก ทั้งจากแนวโน้มรูปแบบการใช้ชีวิต และธุรกิจแบบสร้างด้วยตัวเองมีจำนวนเพิ่มขึ้น
ผม และทีมได้มีโอกาสได้พูดคุยกับเจ้าของบริษัท ไทย อินเตอร์ ลอนดรี จำกัด ซึ่งก่อนหน้านี้ทางทีมได้มีโอกาสร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการปรับภาพลักษณ์องค์กรของ ไทย อินเตอร์ ลอนดรี (THAI INTER LAUNDRY) มาแล้วครั้งหนึ่ง ด้วยทิศทางอุตสาหกรรมที่ทำอยู่เป็นแบบธุรกิจสู่ธุรกิจ (B2B) จึงมองเห็นความเป็นไปได้ และโอกาสสำหรับการเปิดธุรกิจบริการ "เครื่องซักผ้าหยอดเหรียญ" ขึ้น อีกทั้งยังใช้พื้นที่สำหรับแสดง และทดลองสินค้าสำหรับลูกค้ากลุ่มธุรกิจ B2B ด้วย
การออกแบบจาก ศูนย์
กลุ่มเป้าหมายคาดหวังคือกลุ่มธุรกิจขนาดเล็ก และครอบครัวขยายที่อาศัยอยู่ในพื้นที่เสนานิคมซึ่งเป็นพื้นที่ ที่จะตั้งร้าน "เครื่องซักผ้าหยอดเหรียญ"สาขาแรก ทางทีมพูดคุยกับทีม ไทย อินเตอร์ ลอนดรี เพื่อรับทราบข้อมูลเบื้องต้น และลงพื้นที่บริเวณที่จะทำการสร้างร้านในช่วงเวลากลางวัน และกลางคืนเพื่อดูความคับคั่งของร้านค้า, รูปแบบการสัญจรของคนในพื้นที่ และรูปแบบของที่พักอาศัยเพื่อใช้เป็นข้อมูลสนับสนุนในการสร้างแบรนด์
จากข้อมูลที่พูดคุยกัน เราสรุปกลุ่มเป้าหมายคาดหวัง (Target user) จำนวน 3 กลุ่ม คือ กลุ่มพนักงาน, ครอบครัวขยาย และ กลุ่มร้านค้าขนาดเล็กในพื้นที่ ซึ่งทุกกลุ่มมีความต้องการในการใช้บริการซักอบเพื่อจุดประสงค์ที่ต่างกันแต่มีจุดร่วมเดียวกันคือ มองหาร้าน ซัก อบ ที่สามารถมอบบริการที่มีคุณภาพดี รวดเร็ว ไว้วางใจได้ ซึ่งตรงกับจุดแข็งของร้านที่มีบริษัทแม่เป็นผู้นำเข้าเครื่องซักผ้าอุตสาหกรรมคุณภาพสูง พร้อมทั้งการบริการงานหลังการขายในการซ่อมและดูแลตลอด 24 ชม.
ชื่อดี จดจำได้
"Laundry master for those who seek quality" ความสะอาด, ความใส่ใจ, ความจริงใจ และคุณภาพ
คือ คุณค่าที่ร้านมีและมอบให้แก่ลูกค้า หลังจากกำหนดทิศทางเปรียบเทียบ วิเคราะห์คุณค่า เพื่อเสนอบุคลิกภาพของแบรนด์ นำเสนอตำแหน่งทางการตลาด จากนั้นจึงนำฐานข้อมูลนี้มาใช้ในการตั้งชื่อ เครื่องมือทางธุรกิจเหล่านี้ถูกผสมผ่านแนวคิดจากเจ้าของธุรกิจและนักสร้าง/นักออกแบบแบรนด์ ผ่านกระบวนการวิเคราะห์ ประเมินสถานการณ์, สภาวะแข่งขัน และสภาพแวดล้อมร่วมกัน
จากความคิดผ่านเจตนารมณ์ การจะได้มาซึ่ง "ชีวิต"ของแบรนด์สินค้าหรือบริการใดๆ ต้องผ่านกระบวนการคิด คัดสรรอย่างเต็มที่ในหลายๆฝ่าย พูดคุย ปรึกษา แลกเปลี่ยนความคิด หาจุดร่วมผ่านปัจจัยภายนอก และภายในที่สอดคล้อง เมื่อมีเรื่องราวที่หนักแน่น แข็งแรงแล้ว ก็จะส่งต่อไปยังทีมสร้างสรรค์ นักออกแบบ ทีมผลิต ติดตั้ง และสุดท้ายคือส่งถึงผู้บริโภค
การออกแบบอัตลักษณ์ (Brand Identity Design) จำเป็นต้องเน้นเรื่องการสื่อสารเป็นสำคัญ
บุคลิก อารมณ์ ภาษาที่ใช้ถูกสื่อสารผ่านองค์ประกอบทางศิลปะ เช่น สี รูปร่าง ลวดลาย
ถ้าเปรียบงานออกแบบอัตลักษณ์เป็นเสื้อผ้า คำถามที่สำคัญคือ
"วันนี้คุณใส่เสื้อผ้าที่แสดงความเป็นตัวตนของคุณที่สุดแล้วหรือยัง?"
กิตติคุณ ภักดีแก้ว
Kittikoon Pakdeekaew
อ้างอิง
Comentários